...ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่มือใหม่ไว้ล่วงหน้าเลยนะคะ สำหรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆในชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ก็ว่าได้เลยละ (อาจฟังดูเวอร์ไปนิด) แต่สำหรับตัวอุ้ยแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เลย เรามาดูกันนะคะว่าสิ่งใดที่ต้องทำก่อน หลัง ต้องมีการวางแผนไว้นิดนึงนะ กันลืมนะคะ
1>> ไปฝากท้อง จะเป็นที่คลินิก,โรงพยาบาลรัฐหรอเอกชนก็ได้ สำหรับตัวอุ้ยเองไปฝากที่คลินิก เค้าบอกว่ายิ่งฝากครรภ์เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ทั้งแม่และลูกมากเท่านั้น อุ้ยก็เลยไปฝากท้องแต่เนิ่นๆเลยเหมือนกัน ตอนแรกก็คิดว่าตัวเองก็เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆทั่วไป ที่สามารถมีลูกได้ปกติ โดยที่ไม่ได้ตรวจเลือดก่อนตั้งท้อง(แนะนำเพื่อนเลยๆนะคะว่าต้องตรวจเลือดก่อนที่จะท้องไม่งั้นก็จะต้องเป็นเหมือนอุ้ย คือทั้งตัวอุ้ยเองและตัวสามี เป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดเดียวกัน คือ เบต้า ธาลัสซีเมีย ซึ่งก็คือ
-ลูกจะเป็นปกติ เท่ากับ ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4
-ลูกจะมียีนแฝง (เป็นพาหะ) เท่ากับ ร้อยละ 50 หรือ 2 ใน 4
-ลูกจะเป็นธาลัสซีเมีย เท่ากับ ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4...ซึ่งลูกของอุ้ยเองก็เป็น..โรคธาลัสซีเมีย.. แต่เป็นชนิดที่ไม่รุนแรงมาก เกร็ดเลือดของตัวลูกมากกว่าเกร็ดเลือดของตัวอุ้ยเองที่เป็นแค่พาหะอีก ทำการตรวจด้วยการ เจาะน้ำคร่ำ ปกติการเจาะน้ำคร่ำสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์เป็นต้นไป แต่สำหรับตัวอุ้ยกว่าหมอจะได้ส่งตัวไปก็ 18 สัปดาห์กว่าแล้ว เกือบไม่ได้เจาะ เพราะว่าอายุครรภ์มากแล้ว คุณหมอที่ทำการเจาะน้ำคร่ำบอกนะคะ (รายละเอียดย่อยๆ เดียวค่อยเล่าในหัวข้ออื่นน่ะค่ะ)ตอนนั้นถ้าลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย ชนิดที่รุนแรงมาก หมอก็จะแนะนำให้เอาออกแต่คุณแม่ลองคิดดูซิค่ะว่า 18 สัปดาห์กว่าแล้ว ลูก มีครบทุกอย่างแล้ว จะให้เอาออกได้ยังไง อุตสาห์อุ้มท้องมาตั้งหลายสัปดาห์แล้ว จะทำใจได้ยังไง
...สำหรับคุณแม่ที่ไปฝากท้อง จะได้ตรวจร่างกายอย่างละเอียด คำนวณกำหนดวันคลอดคร่าวๆ พร้อมซักประวัติเพื่อประเมินว่าคุณแม่มีความเสี่ยงเรื่องใดบ้างในการตั้ง ครรภ์ครั้งนี้ เพราะฉะนั้นข้อมูลส่วนตัวที่คุณแม่ต้องเตรียมไปฝากครรภ์คือ รายละเอียดเกี่ยวกับการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยาต่างๆ
2>> หาข้อมูลให้พร้อมสู่การเป็น ‘แม่' ไม่ว่าจะ เป็นตำรับตำรา นิตยสาร ข้อมูลตามเวปไซต์แม่และเด็ก หรือการเข้าคอร์สอบรมแม่ตั้งครรภ์ สิ่งเหล่านี้จะช่วย update ข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ การดูแลครรภ์ ไปจนกระทั่งการดูแลลูกหลังคลอด เพื่อให้ว่าที่คุณแม่ได้เปิดโลกทัศน์และเตรียมตัวสู่การเป็นแม่ได้อย่างถูก วิธียังไงละคะ
3>> เตรียมรับมือกับอาการแพ้ท้อง อาการแพ้ท้องของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันมากน้อยแตกต่างกันไป ใครที่ไม่เจอกับตัวเองก็คงไม่รู้ว่าทรมานแค่ไหน มีทั้งคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหม็นเบื่อไปสารพัด(แม้แต่สามีอยู่ใกล้ยังเหม็นเลย เหอๆ) บ้างก็อยากกินของเปรี้ยวๆ แปลกๆ ขอเพียงแค่ได้กินนิดเดียวก็หายอยากแล้ว หากไม่ได้กินเหมือนใจจะขาดซะให้ได้ วิธีแก้อาการแพ้ ก็คือหาขนมเครกเกอร์มากินช่วงที่มีอาการคลื่นไส้ หรอจะเป็นน้ำขิงอุ่นๆก็ช่วยได้ไว้จิบระหว่างวัน และต้องพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างน่ะคะ
4>> สนุกกับการ Mix & Match จะเป็นกางเกงหรือกระโปรงก็ไม่มีปัญหา ถึงท้องก็สวยเท่ได้ ขนาดท้องจะเริ่มขยายชัดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 4 เดือน (สำหรับท้องแรกบางคนอาจจะดูไม่ชัดมากเท่าไหร่) คุณแม่จึงควรเตรียมชุดคลุมท้องที่สวมใส่ง่าย และสะดวกเวลาที่ต้องเข้า- ออกห้องน้ำบ่อยๆ ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น ก็จะเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น รวมทั้งชุดชั้นในที่ใส่แล้วสบายไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด วิธีเลือกเสื้อชั้นในก็ให้เลือกชนิดที่มีตะขอปรับขยายขนาดไว้มากๆ จะได้ไม่ต้องซื้อใหม่บ่อยๆ ส่วนกางเกงชั้นในช่วงอายุครรภ์อ่อนๆ ก็อาจใส่แบบบิกินี่ที่ไม่รัดเอวมากเกินไป พออายุครรภ์มากขึ้นค่อยเปลี่ยนมาใส่แบบพยุงครรภ์เพื่อช่วยรับน้ำหนักท้องแทนคะ
5>> ไปหาหมอฟัน เมื่ออาการแพ้ท้องค่อยๆ ทุเลาลง แนะนำว่าควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยสักครั้งนะคะ เพื่อตรวจสุขภาพฟัน ถ้าฝากท้องที่โรงพยาบาลรัฐ จะมีการตรวจฟันให้ด้วยถ้าฝากที่คลินิก ต้องไปหาหมอฟันเพื่อตรวจเองเพราะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีปัญหาสุขภาพฟันมีมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นน้ำลายที่มีมากในช่วงท้อง 3 เดือนแรกอาจส่งผลต่อฐานฟัน หรือการกินของขบเคี้ยวผลไม้รสเปรี้ยว เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้องอาจทำให้เคลือบฟันสึกหรือฟันผุได้ง่าย รวมถึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ก็เป็นตัวการทำให้ เนื้อเยื่อต่างๆ อ่อนนุ่มลงและมีเลือดมาเลี้ยงเหงือกมากขึ้นจึงทำให้เลือดออกตามไรฟันได้ง่ายกว่าปกติ และที่สำคัญก่อนทำฟันอย่าลืมบอกคุณหมอด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่คะ
6>> เตรียมร่างกายให้พร้อม การบริหารร่างกายเพื่อ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอดจะช่วยให้คุณแม่สบายใจและมั่นใจในการคลอดมาก ขึ้นคะ โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อขาและอุ้งเชิงกราน เช่น ฝึกนั่งแบะขาดึงข้อเท้า ฝึกนั่งยองๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวย เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและต้นขาแข็งแรง และจะช่วยให้คลอดง่ายขึ้น จะเป็นการบริหารแบบโยคะก็ช่วยได้นะคะ แต่ควรระวังท่าในการบริหาร เพราะอาจจะมีผลกับลูกในท้องได้
7>> อายุครรภ์ยิ่งมากขึ้น ระวังตะคริวถามหา ตะคริวเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์ มีสาเหตุมาจากการยืนเดินมาก หรือนั่งห้อยเท้าตลอดทั้งวัน และเป็นสัญญาณที่ร่างกายบอกให้รู้ว่าคุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอหรือขาด เกลือแร่ระหว่างตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรดื่มนมหรือกินอาหารที่มีแคลเซียม เช่น กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อยหากเป็นผลไม้ที่ให้แคลเซียมเยอะก็คือ ฝรั่ง ซึ่งสามารถกินได้ตลอดทั้งวัน ส่วนวิธีแก้ไขเมื่อเป็นตะคริวทำได้ง่ายๆ คือ รีบเหยียดขาออกไปให้ตึงที่สุด จากนั้นดัดปลายเท้ากระดกขึ้นห้ามบีบนวดบริเวณที่เป็นตะคริวเด็ดขาด เพราะจะทำให้คุณแม่ปวดขามากๆกว่าจะหายได้ก็หลายวันคะ เหยียดขาให้ตรงๆสักพัก เพื่อให้กล้ามเนื้อให้คลายออก
8>>เตรียมตั้งชื่อลูกสาว – ลูกชายรอได้เลยคะ ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จะรู้แล้วลูกของเราเพศชายหรอเพศหญิง ควรจะหาข้อยุติ เกี่ยวกับชื่อลูกให้ได้ เพราะช่วงที่คุณแม่เจ็บท้องคลอดแล้วพยาบาลต้องถามชื่อเพื่อไปทำสูติบัตรลูกจะได้ไม่ ฉุกละหุก และไม่ต้องมาเสียเวลาเปลี่ยนชื่อกันใหม่อีก สำหรับคุณแม่ที่เชื่อเรื่องชื่อมีอิทธิพลกับชีวิต แนะนำว่าควรรีบหาตำรามาอ่านและเลือกชื่อที่เหมาะสมเสียแต่เนิ่นๆ แบบว่าตั้งเผื่อไว้เลย 7 วัน คลอดออกมาวันไหนก็ชื่อนั้นคะ
9>> เคลียร์งานและลาคลอด สำหรับคุณแม่ที่ยังทำงานอยู่ก็ควรจะเคลียร์งานต่างๆ ที่คั่งค้างให้เรียบร้อยก่อนถึงกำหนดคลอดประมาณ 1 เดือน ที่สำคัญอย่าลืมสอบถามรายละเอียดวันลาคลอดของบริษัทด้วยว่า ลาได้ทั้งหมดกี่เดือน กี่วัน สมมุติถ้าลาวันนี้จะต้องกลับมาทำงานอีกทีเมื่อไหร่ รวมถึงสอบถามเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้ชัดเจนด้วย เพื่อคุณจะได้ไม่เสียประโยชน์ที่พึงได้รับ
10>> จัดห้องเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่หลังจากลางานแล้วคุณแม่ก็จะมีเวลาพักผ่อน กาย ใจ เต็มที่ ระหว่างนี้ควรฝึกการหายใจผ่อนคลายความเจ็บปวดระหว่างคลอดไปในตัว หัดขมิบหน้าท้อง ชวนคุณสามีจัดเตรียมห้องหับไว้ต้อนรับสมาชิกตัวน้อย รวมไปถึงข้าวของต่างๆ ที่จะต้องให้คุณสามีเอาไปให้ที่โรงพยาบาล ควรจะจัดเตรียมไว้แต่เนิ่น กันลืม เช่น ผ้าอ้อม เสื้อผ้าทั้งของลูกและของแม่สำหรับใส่กลับบ้าน ที่ลืมไม่ได้คือเบอร์ติดต่อฉุกเฉินกรณีที่คุณแม่เกิดเจ็บท้องคลอดกะทันหันไว้ด้วย
…การได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว เมื่อถึงคราวที่จะต้องเข้าห้องคลอดกันจริงๆ คุณแม่ก็จะได้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และทำหน้าที่ให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ ได้อย่างมั่นใจแล้วคะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น