Welcom to new mom blog

ยินดีต้อนรับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ แชร์ประสบการณ์และหาความรู้เพิ่มเติม

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

หัดกุหลาบ (ส่าไข้) โรคในเด็กเล็ก แม่มือใหม่ควรรู้จัก

โรคหัดกุหลาบ หรือ ที่เรียกๆกันว่า ส่าไข้ คุณแม่บางคนอาจจะเคยประสบกับตัวเองมาแล้ว แต่สำหรับคุณแม่มือใหม่อย่างอุ้ยแล้ว เพิ่งจะเคยเจอนี่ละค่ะ ก็เลยเอาประสบการณ์มาเล่าให้คุณแม่ๆได้รู้จักกันค่ะ
.....วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดน้องเอ่เอ้ ที่ได้ลืมตาดูโลกใบนี้เป็นครั้งแรก อายุครบ 1 ขวบพอดี แต่..แล้วเรื่องที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น จากการที่ลูกไม่เคยป่วย หรือว่าเป็นหวัดเลย เมื่อเย็นวันที่ 31 สิงหาคม น้องเอ่เอ้ไม่ยอมกินข้าวเลย แม่จ๋าก็คิดว่า ลูกคงจะอิ่มขนม เพราะคุณยายมาเยี่ยมพอดี และตัวน้องเอ่เอ้เองก็ไม่ได้มีอาการซึม ที่บ่งบอกว่าลูกจะเป็นไข้ แม้แต่นิดเดียว กลับตรงข้าม ซนซะมากกว่าอีก ที่เห็นยายมาเยี่ยม
.....ช่วงดึก แม่จ๋าจับตัวลูก เริ่มตัวร้อนๆล่ะ ช่วงเช้าแน่ใจเลยว่าน้องเอ่เอ้ต้องเป็นไข้แน่ๆเลย ตัวร้อนจี๋เชียว แม่จ๋าทำได้ก็คือ คอยเช็ดตัวให้ลูก เพราะกลัวว่าลูกจะชัก เมื่อมีไข้สูงถึง 39.6 ข้าวก็ไม่ยอมกินเลย จะกินแต่ขนมปัง กับนมแม่เอง
.....แม่จ๋าพาน้องเอ่เอ้ไปถวายสังฆทานที่วัด น้องเอ่เอ้ก็ซนไม่อยู่นิ่งเลย ขนาดว่าตัวร้อนน่ะ ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ตัวร้อนอย่างเดียวเลย ตอนเย็นแม่จ๋าพาน้องเอ่เอ้ไปหาหมอ หมอให้ยาลดไข้มากิน ทุกๆ 4 ชม. ถ้าถ้ากินยาลดไข้แล้ว ยังมีไข้อยู่ คุณหมอให้ไปเจาะเลือดที่ รพ.แม่จ๋าก็ทำตามที่คุณหมอบอกมาอ่ะน่ะ ช่วงดึกๆ น้องเอ่เอ้จะตื่นบ่อยมาก งอแงด้วย แม่จ๋าก็อดสงสารหนูไม่ได้ คอยนั่งจับตัวลูกอยู่ตลอดเลย
.....วันที่ 2 กันยายน ช่วงเช้าน้องเอ่เอ้ไข้ลดลง แม่จ๋ายังไม่อาบน้ำให้ก่อน เช็ดตัวอย่างเดียว และก็ยังให้กินยาอยู่ แต่ก็ยังไม่มีอาการซึมใดๆเลย ซนได้ปกติ และก็ยอมกินข้าวบ้างไม่เยอะ ช่วงดึกๆ ยังตื่นบ่อยเหมือนเดิม ไม่งอแงมาก
.....เช้าวันที่ 3 ตื่นเช้ามา แม่จ๋าอุ้มเดินผ่านหม้อหุงข้าว น้องเอ่เอ้ยกมือไหว้ใหญ่เลย ประมาณว่า อยากได้อะไรยกมือใหญ่ ขอบคุณไว้ก่อนอะไรประมาณนั้น แม่จ๋าก็ป้อนข้าวให้ไปคำหนึ่ง และก็จะกินอีก กินได้เยอะเลย เหมือนกับว่า หิวมากๆ ตัวไม่ร้อนแล้ว เข้าวันที่ 4 น้องเอ่เอ้เริ่มมีผดผื่นขึ้นตามตัว แผ่นหลัง ต้นคอ ใบหน้า โอ๊ย !!! แม่จ๋าตกใจมาก รีบพาไปหาหมอคนเดิมอีกครั้ง คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องตกใจไปค่ะ ลูกเป็นโรคส่าไข้ คือจะเป็นผดผื่น แดงๆ หลังจากเป็นไข้นั้นเอง ไม่ต้องกินยาหรือว่าทายาอะไร ประมาณ 2-3 วันก็จะหายไปเอง  แม่จ๋านึกว่าลูกจะเป็นไข้เลือดออกซะแล้ว
.....กลับมาถึงบ้าน แม่จ๋าก็ทำการค้นหาอีกนั้นแหละว่า โรคส่าไข้ คืออะไร เป็นยังไง ไปเจอของนิตรสารบันทึกคุณแม่ น่าสนใจมากๆเลยค่ะ นำมาฝากกันค่ะ
.....ส่าไข้ หรือไข้ออกผื่น หรือบางคนเรียกว่าไข้ผื่นดอกกุหลาบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ช่วงอายุประมาณ 6 เดือนถึง 3 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 6 เดือน-1 ปีครึ่ง อาจจะพบบ่อยที่สุด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเป็นเองหายเองได้ แต่อาการแทรกซ้อนของโรค เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปกครองตกใจจนทำอะไรไม่ถูกได้เราจึงควรทำความรู้จักกับโรคนี้ และหาทางป้องกันอาการที่จะทำให้ต้องตกอกตกใจ
ส่าไข้หรือไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes ชนิดที่ 6 ติดมาทางน้ำลาย เช่น การดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน ทานอาหารช้อนเดียวกันเป็นต้น เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะเริ่มมีการทำให้เด็กไข้สูงมากแบบทันทีทันใด และไม่ยอมลง แม้จะกินยา เช็ดตัวอย่างถูกวิธี ไข้ก็ยังสูงอยู่ อาจจะต่ำลงมาบ้างตอนที่กินยาลดไข้ใหม่ๆ และเช็ดตัว พอหยุดเช็ดตัวไข้จะขึ้นสูงอีกกระหม่อมเด็กอาจจะโป่งตึงได้ อาการอื่นๆ ไม่ค่อยชัดเจน ไม่ค่อยไอ น้ำมูกไม่ค่อยมี แม้เด็กจะไข้สูงมากแบบทันทีทันใด และไม่ยอมลง แม้จะกินยาเช็ดตัวอย่างถูกวิธี ไข้ก็ยังสูง อาจจะต่ำลงมาบ้างตอนที่กินยาลดไข้ใหม่ๆ และเช็ดตัว พอหยุดเช็ดตัวไข้จะขึ้นสูงอีก แม้เด็กจะไข้สูงก็ยังดูไม่ซึม ยังเล่นได้ กินได้ หลังจากมีไข้ประมาณ 3-4 วัน จะมีผื่นขึ้นเป็นจุดแดงๆ เล็กๆ ไม่นูน ผื่นมักจะปรากฏที่ตัก หน้า และคอ ที่แขนขามีน้อย เมื่อผื่นขึ้น ไข้ก็จะลงตามมาในเวลาไล่เรี่ยกัน วันที่ผื่นขึ้นวันแรกเด็กจะงอแง ร้องกวนมากกว่าตอนที่มีไข้ และอาจมีถ่ายเหลวสัก 1-2 วัน ผื่นจะค่อยๆ จางลงในเวลาประมาณ 3-4 วัน และที่สำคัญผื่นพวกนี้จะไม่คัน
ข้อควรระวังของโรคนี้ อยู่ที่อาการแทรกซ้อนของโรค ที่สำคัญคือเรื่องชักจากไข้สูง เพราะโรคนี้มักจะมีไข้สูงตลอด และชอบเป็นในเด็กหลังอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่จะชักได้ง่าย โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่พ่อแม่เผลอหลับไป ดังนั้น เมื่อมีเด็กเป็นโรคนี้หรือสงสัยว่าจะเป็น ควรให้ยาลดไข้และเช็ดตัวตลอด ใช้น้ำก๊อกธรรมดาเช็ดที่ตัว เว้นปลายมือ ปลายเท้าที่มักจะเย็นอยู่แล้ว เวลาเด็กมีไข้สูง การเช็ดตัวให้ถูแรงสักหน่อย ให้ผิวหนังแดงๆ และที่สำคัญให้เน้นที่ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ บริเวณเหล่านี้มีเส้นเลือดขนาดใหญ่ จะช่วยให้ไข้ลดลงเร็วกว่าที่อื่น โดยโปะผ้าชุบน้ำเอาไว้แล้วเปลี่ยนบ่อยๆ เมื่อไข้ลงแล้วให้เช็ดตัวให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าบางๆ ให้ความร้อนระบายได้ง่าย เด็กสามารถนอนเปิดแอร์หรือเป่าพัดลมได้ จะช่วยให้ความร้อนระบายได้ดีขึ้น
ถ้าเด็กเกิดชักขึ้นมา อาการชักจากไข้สูงโดยทั่วไปจะหยุดได้เอง ภายในเวลาไม่เกิน 4 นาที จึงมักไม่กระทบกระเทือนต่อสมองของเด็ก แต่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองตกอกตกใจได้ ถ้าลูกชักให้ตั้งสติให้ดี ระวังอย่าให้เด็กได้รับอันตราย เช่น ระวังอย่าให้ศรีษะกระแทกของแข็ง อย่าให้กัดลิ้นตัวเองจับหน้าหันไปด้านข้าง จะได้ไม่สำลักอาหารแล้วรีบเช็ดตัวให้ไข้ลดลง พร้อมกับนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้การวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


ต้องขอขอบคุณ นิตรสารบันทึกคุณแม่ ค่ะ ^^